Trend/Update Trend ท่องไปในโลกแห่งดวงดวงและคำอธิษฐานกับเทศกาลทานาบาตะ

ท่องไปในโลกแห่งดวงดวงและคำอธิษฐานกับเทศกาลทานาบาตะ

เมื่อวันที่ : 03/07/2018

เทศกาลทานาบาตะ  ที่ทุกคนที่ชื่นชอบญี่ปุ่น จะรู้กันดีว่าเทศกาลนี้จะถูกจัดขึ้นในทุกๆ ปี ในวันที่ 7 เดือน 7 (กรกฏาคม)  เทศกาลนี้มีอีกชื่อเรียกว่า “ เทศกาลแห่งฤดูกาลของใบไผ่ (ซาซา โนะ เซคคุ)” และ “เทศกาลแห่งดวงดาว (โฮชิมัตสึริ)”เป็น 1 ใน 5 เทศกาลที่ถูกกำหนดให้มีขึ้นในสมัยเอโดะ และยังเป็นเทศกาลที่ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบันนี้


หากพูดถึง เทศกาลทานาบาตะ แล้ว ต่างก็นึกถึงเทศกาลนี้ว่าเป็นเทศกาล อันสุดแสนโรแมนติก เป็นเรื่องราวตำนานความรักของสาวทอผ้า (โอริฮิเมะ:ดาวเวกา) และ หนุ่มเลี้ยงวัว (ฮิโคโบชิ:ดาวอัลแทร์)

โอริฮิเมะ เป็นหญิงสาวผู้ชำนาญในการทอผ้าที่อาศัยที่ทางฝั่งตะวันตก ของทางช้างเผือก มีฝีมือการทอผ้าที่สวยงามเป็นอย่างยิ่งทำให้เป็นที่ถูกอกถูกใจต่อบิดาผู้เป็นเทพแห่งสรวงสวรรค์อย่างมาก ต่อมาท่านได้หาคู่หมายให้ "โอริฮิเมะ"  และแต่งงานเป็นสามีภรรยากัน ชายหนุ่มผู้นั้นก็คือหนุ่มเลี้ยงวัวผู้ที่มีนามว่า "ฮิโคโบชิ" ผู้ที่ทำงานและอาศัยอยู่ที่ทางฝั่งตะวันออกของทางช้างเผือก หลังจากทั้งคู่ได้แต่งงานกันแล้วก็ตกเข้าสู่ห้วงแห่งความรัก จนไม่ทำหน้าที่ของตนเช่นที่เคยเป็น  บิดาผู้เป็นเจ้าแห่งสรวงสวรรค์จึงโกรธา และทำการลงโทษโดยการแยกทั้งคู่ออกจากกันด้วยทางช้างเผือก ทว่าด้วยความสงสารต่อทั้งคู่ที่ต้องอยู่ด้วยความเศร้าเสียใจ เทพแห่งสรวงสวรรค์จึงอนุญาตให้ทั้งคู่มาพบกันได้ในค่ำคืนแห่งทานาบาตะ (วันที่ 7 เดือน 7 ปีละครั้งเท่านั้น) โดยขึ้นปีกของนกคาซาซากิ (นกสาลิกาปากดำ) เป็นสะพานข้ามทางช้างเผือกมาพบกัน

ในปัจจุบันเทศกาลทานาบาตะ กลายเป็นเทศกาลที่จัดขึ้นในทุกๆ ปีในประเทศญี่ปุ่น  และกลายเป็น เทศกาลขอพรต่อดวงดาว โดยแต่ละบ้านจะนำต้นไผ่มาตั้งแล้วก็เขียนคำอธิษฐานลงกระดาษแล้วนำไปผูกกับต้นไผ่ เพื่อให้คำอธิษฐานเป็นจริง

โดยการเขียนคำอธิษฐานนั้นเป็นประเพณีที่ถูกเริ่มในยุคเอโดะ เป็นยุคสมัยที่ผู้คนทั่วไปเริ่มมีการเรียนเขียนพู่กัน และร่ำเรียนกันที่วัด เพิ่มมากขึ้นจึงกลายเป็นการเขียนกลอนสั้นเพื่อส่งคำอธิษฐานไปยังดวงดาวบนฝากฟ้านับแต่นั้นมา

 

ของที่นำมาประดับต้นไผ่และเทศกาลมีดังนี้

1. Tanzaku

ในปัจจุบันการเขียนคำอธิษฐานนั้น จะเขียนลงบนกระดาษสี ซึ่งมีทั้งหมด 5 สี (น้ำเงิน, แดง, เหลือง, ขาว, ดำ) สีเหล่านี้เป็นสีของธาตุต่างๆ ตามความเชื่อจีนโบราณ คือ ไม้, ไฟ, ดิน, ทอง และ น้ำ ตามลำดับที่ถือเป็นรากฐานของโลกใบนี้

 

นอกจากแผ่นกระดาษคำอธิษฐานแล้วยังมีอย่างอื่นที่นำไปผู้ไว้บนต้นไผ่อีกด้วย

 

2. Fukinagashi

 

เปรียบเสมือนด้ายทอของโอริฮิเมะ กระดาษ 5 สีจะถูกนำมาใช้โดยหมายถึงการขับไล่สิ่งชั่วร้าย กระดาษสีเส้นยาวจะถูกแปะติดเป็นเส้นล้อมรอบบอลลูนกระดาษ(ไม่จำกัดรูปทรง)

 

3.Amikazari
 

กระดาษตัดรูปทรงเป็นตาข่าย เป็นสัญลักษณ์แทนแหดักปลา เป็นการอธิษฐานเพื่อร้องขอให้เป็นปีที่สมบูรณ์ให้จับปลาได้มาก 

 

4.Oritsuru

 

คือ นกกระเรียนกระดาษ พันตัว เป็นเครื่องหมายของความอายุยืน

 

5.Kamiko

 

กระดาษพับรูปชุดกิโมโนะ ช่วยให้โอริฮิเมะการทอผ้าไวขึ้น ไม่ต้องกังวลเรื่องชุดสวมใส่ และยังมีอีกความหมายคือส่งความชั่วร้ายลงไปยังตุ๊กตาแทนอีกด้วย

 

6.กระดาษพับรูปทรงกระเป๋าถือหรือกระเป๋าสตางค์

 

เพื่อการขอให้มีเงินทองไหลมาเทมายังกระเป๋าสตางค์ ของตนจริงๆ

 

7.Kuzukago

 

เป็นตาข่ายกระดาษ แบบใส่ของได้ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียของจึงนำเศษกระดาษจากที่ทำเหลือมาใส่ในตาข่ายกระดาษนี้ประดับในงาน


ของตกแต่งและต้นไผ่ต่างๆ จะถูกวางประดับและใช้จนถึงค่ำคืนแห่งทานาบาตะเท่านั้น วันต่อมาจะต้องถูกนำออกไป และนำไปชำระล้างในแม่น้ำ จากนั้นให้นำไปตัดเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อนำไปทิ้งต่อไป (ห้ามทิ้งลงแม่น้ำเด็ดขาด) ส่วนกระดาษคำอธิษฐานให้นำไปเผาที่วัดหรือศาลเจ้าใกล้เคียง